เปิดในหน้าต่างใหม่
อัพเดท 28 พฤษภาคม 2567

Apple Hearing Study เผยผลการศึกษาเบื้องต้นเกี่ยวกับอาการเสียงในหู

นักวิจัยจาก University of Michigan เผยแพร่ข้อมูลจากหนึ่งในการสำรวจครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาเกี่ยวกับเสียงในหู
Tinnitus (เสียงในหู) หรือการรับรู้เสียงที่ผู้อื่นไม่ได้ยิน เป็นหัวข้อการศึกษาวิจัยล่าสุดของ Apple Hearing Study
Apple Hearing Study เผยผลการศึกษาใหม่เกี่ยวกับอาการเสียงในหูจากหนึ่งในการสำรวจครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา
นักวิจัยจาก University of Michigan ได้ศึกษากลุ่มผู้เข้าร่วมมากกว่า 160,000 รายที่ตอบคำถามในแบบสำรวจ และทำการประเมินบนแอปเพื่อจำแนกลักษณะอาการของเสียงในหูที่แต่ละคนเจอ การศึกษาครั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับลักษณะเฉพาะของอาการเสียงในหูให้ดียิ่งขึ้น และใช้เป็นข้อมูลสำหรับการศึกษาวิจัยในอนาคตเพื่อหาวิธีบำบัดที่ได้ผล
"ผู้เข้าร่วมประมาณ 15% มีอาการเสียงในหูทุกวัน" Rick Neitzel อาจารย์ภาควิชาอนามัยสิ่งแวดล้อมจาก School of Public Health แห่ง University of Michigan กล่าว "เสียงในหูส่งผลกระทบต่อชีวิตของคนคนหนึ่งมากเลยทีเดียว และแนวโน้มที่เรากำลังศึกษาอยู่ผ่านทาง Apple Hearing Study เกี่ยวกับอาการเสียงในหูที่แต่ละคนเจอก็จะช่วยให้เรามีความเข้าใจที่ดียิ่งขึ้นเกี่ยวกับกลุ่มคนที่เสี่ยงต่อการเกิดอาการนี้มากที่สุด และสามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในความพยายามที่จะลดผลกระทบจากเสียงในหูต่อไปได้ เรียกว่า Apple Hearing Study เปิดโอกาสให้เราได้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับเสียงในหูในกลุ่มประชากรต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้นอย่างที่ไม่เคยทำได้มาก่อน และเข้ามาเสริมความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งในที่สุดแล้วสามารถนำไปใช้ปรับปรุงการจัดการกับเสียงในหูให้ดียิ่งขึ้นได้"
Tinnitus (เสียงในหู) หรือการรับรู้เสียงที่ผู้อื่นไม่ได้ยิน เกิดขึ้นได้กับหลายคน ไม่ว่าจะเกิดกับหูข้างเดียวหรือทั้งสองข้าง และเสียงที่รับรู้อาจมีได้หลายแบบ แต่เสียงที่พบบ่อยที่สุดตามที่คนส่วนใหญ่อธิบายไว้คือเสียงวิ้งๆ ซึ่งอาจเกิดขึ้นเพียงชั่วขณะหรือเกิดขึ้นเป็นระยะเวลานานก็ได้ นอกจากนี้อาการและประสบการณ์ที่ได้รับจากเสียงในหูของแต่ละคนยังอาจแตกต่างกันมาก และเปลี่ยนไปมาได้สำหรับบางคน
เสียงในหูอาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตโดยรวมของบุคคลหนึ่งได้ เช่น รบกวนการนอนหลับ รบกวนสมาธิ หรือส่งผลต่อความสามารถในการได้ยินเสียงที่ชัดเจน
ขั้นแรกในการทำความเข้าใจกับเสียงในหูให้ดียิ่งขึ้นคือการเรียนรู้เกี่ยวกับผู้ที่มีอาการดังกล่าวให้มากขึ้น และดูว่าอาการนั้นแตกต่างกันอย่างไรในแต่ละคน หรือเปลี่ยนไปอย่างไรในบุคคลหนึ่งเมื่อเวลาผ่านไป รวมถึงสาเหตุที่เป็นไปได้ วิธีการจัดการกับเสียงในหู และประเมินว่าวิธีดังกล่าวได้ผลมากน้อยเพียงใด

ความชุกของอาการเสียงในหู

จากการศึกษาพบว่า 77.6% ของผู้เข้าร่วมเคยมีอาการเสียงในหู และหนึ่งในตัวแปรสำคัญคืออายุ กล่าวคือยิ่งอายุมากขึ้นก็ยิ่งมีโอกาสได้ยินเสียงในหูทุกวันมากขึ้นด้วย ผู้ที่มีอายุ 55 ปีขึ้นไปมีแนวโน้มที่จะได้ยินเสียงในหูทุกวันมากกว่าผู้ที่มีอายุ 18-34 ปี ถึง 3 เท่า นอกจากนี้ยังพบว่าผู้เข้าร่วมที่เป็นผู้ชายพบเจออาการเสียงในหูทุกวันมากกว่าผู้หญิง 2.7% แต่มีผู้ชายที่ไม่เคยมีอาการเสียงในหูเลยมากกว่าผู้หญิง 4.8%

การจัดการกับเสียงในหู

ใน Apple Hearing Study ผู้เข้าร่วมระบุว่าหลักๆ แล้วได้ทดลองใช้ 3 วิธีต่อไปนี้เพื่อบรรเทาอาการเสียงในหู ได้แก่ การใช้เครื่องเล่นเสียงหรือ Noise Machine (28%) การฟังเสียงธรรมชาติ (23.7%) และการฝึกทำสมาธิ (12.2%) ส่วนผู้เข้าร่วมที่เลือกบำบัดด้วยวิธีการปรับความคิดและพฤติกรรมเพื่อจัดการกับเสียงในหูนั้นมีไม่ถึง 2.1%

สาเหตุของเสียงในหู

ถึงแม้จะไม่มีวิธีใดที่รับประกันว่าสามารถป้องกันการเกิดเสียงในหูได้ อันเนื่องมาจากสาเหตุที่ซับซ้อนของอาการนี้ แต่การฝึกปฏิบัติเพื่อป้องกันการสูญเสียการได้ยินและจัดการกับระดับความเครียดสามารถช่วยลดโอกาสเกิดเสียงในหูได้ โดยในการศึกษานั้น ผู้เข้าร่วมระบุว่า "การบาดเจ็บจากเสียงดังรบกวน" หรือ Noise Trauma ซึ่งเกิดจากการได้ยินเสียงที่ดังเกินไป เป็นสาเหตุหลักของเสียงในหู (20.3%) ตามมาด้วยความเครียด (7.7%)

การจำแนกลักษณะเฉพาะของเสียงในหู

ผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่พบเจออาการเสียงในหูเพียงช่วงระยะเวลาสั้นๆ เมื่อเทียบกับอีก 14.7% ที่ระบุว่าได้ยินเสียงในหูตลอดเวลา และระยะเวลาของการเกิดเสียงในหูตามที่รายงานนั้นยังเพิ่มขึ้นมากตามอายุในกลุ่มผู้เข้าร่วมที่มีอายุ 55 ปีขึ้นไปโดยที่ 35.8% ของผู้เข้าร่วมที่มีอายุ 55 ปีขึ้นไปมีอาการเสียงในหูตลอดเวลา นอกจากนี้ผู้เข้าร่วมที่เป็นผู้ชายยังได้ยินเสียงในหูตลอดเวลามากกว่าผู้หญิงถึงเกือบ 6.8%
สำหรับระดับของเสียงในหูนั้น ผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่พบว่าเป็นเสียงเบาๆ โดยมี 34.4% ระบุว่าเป็นเสียงที่ได้ยินชัด ในขณะที่อีก 8.8% ระบุว่าเป็นเสียงที่ดังมากหรือดังมากสุดๆ ส่วนอีก 10% ระบุว่าเสียงในหูรบกวนความสามารถในการได้ยินเสียงที่ชัดเจนในระดับปานกลางหรือรบกวนจนไม่ได้ยินเลย
นอกเหนือจากการตอบคำถามในแบบสำรวจแล้ว ผู้เข้าร่วมที่มีอาการเสียงในหูยังทำการทดสอบเกี่ยวกับเสียงผ่านแอปเพื่อให้สามารถจำแนกลักษณะเฉพาะของเสียงในหูได้ดียิ่งขึ้นโดยการจับคู่ประเภทและลักษณะของเสียงที่ได้ยิน
ผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่อธิบายว่าเสียงในหูของตนเป็นโทนเสียงบริสุทธิ์ (78.5%) หรือเสียงสีขาว (17.4%) โดยในกลุ่มผู้ที่อธิบายว่าเป็นโทนเสียงบริสุทธิ์นั้น มีถึง 90.8% ที่ระบุว่าเป็นเสียงที่ความถี่ 4 กิโลเฮิรตซ์หรือสูงกว่า คล้ายกับเสียงร้องของนกจำพวกที่มีเสียงไพเราะ นอกจากนี้ สำหรับผู้ที่อธิบายว่าเป็นโทนเสียงบริสุทธิ์นั้น มี 83.5% ที่ระบุว่าเสียงในหูของตนเป็นเสียงโทนเดียว และมี 16.5% ที่ระบุว่าเป็นเสียงกาต้มน้ำ ซึ่งเป็นเสียงหวีดความถี่สูงตอนน้ำเดือด
สำหรับผู้เข้าร่วมที่จับคู่เสียงในหูของตนกับเสียงสีขาว มี 57.7% ที่ระบุว่าเป็นเสียงซ่า, 21.7% ระบุว่าคล้ายกับเสียงจิ้งหรีด, 11.2% ระบุว่าเป็นเสียงไฟฟ้า และ 9.4% ระบุว่าเป็นเสียงพัลส์
Apple Hearing Study เป็นหนึ่งในสามการศึกษาด้านสาธารณสุขที่สำคัญในแอป Research บน iPhone ซึ่งเริ่มต้นขึ้นในปี 2019 และยังคงดำเนินมาจนถึงปัจจุบัน
Apple Hearing Study เป็นการศึกษาที่ดำเนินการร่วมกับ University of Michigan เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างการรับฟังเสียงและผลที่เกิดกับสุขภาพการได้ยินให้ดียิ่งขึ้น โดยจนถึงปัจจุบันนักวิจัยได้เก็บรวบรวมระดับเสียงในสิ่งแวดล้อมที่คำนวณแล้วประมาณ 400 ล้านชั่วโมง เสริมด้วยข้อมูลจากแบบสำรวจไลฟ์สไตล์เพื่อนำมาใช้วิเคราะห์ว่าการรับฟังเสียงส่งผลกระทบอย่างไรต่อการได้ยิน ความเครียด และสุขภาพในแง่มุมที่เกี่ยวข้องกับการได้ยิน นอกจากนี้ยังมีการแชร์ข้อมูลการศึกษาดังกล่าวกับองค์การอนามัยโลกเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในแผนงาน Make Listening Safe ด้วย

ผลิตภัณฑ์ Apple ช่วยได้อย่างไรบ้าง

เทคโนโลยีของ Apple มีคุณสมบัติมากมายที่ช่วยส่งเสริมสุขภาพการได้ยินด้วยการแตะเพียงไม่กี่ครั้ง
แอปเสียงรบกวน: แอปเสียงรบกวนช่วยให้ผู้ใช้ Apple Watch สามารถเปิดการแจ้งเตือนเมื่อเสียงแวดล้อมอยู่ในระดับที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพการได้ยิน ส่วนแอปสุขภาพบน iPhone ก็จะติดตามประวัติการรับฟังเสียงของผู้ใช้ในระดับต่างๆ และแจ้งเตือนว่าระดับเสียงของหูฟังหรือระดับเสียงแวดล้อมสูงเกินค่าที่แนะนำตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลกหรือไม่
iPhone 15 Pro แสดงระดับเสียงแวดล้อมในช่วงหนึ่งสัปดาห์พร้อมคำว่า "ดี" ใต้ "การรับฟัง" ในขณะที่ Apple Watch Series 9 แสดงระดับเสียงแวดล้อมในหน่วยเดซิเบลพร้อมคำว่า "ดี"
แอปเสียงรบกวนบน Apple Watch สามารถแจ้งเตือนผู้ใช้เมื่อเสียงแวดล้อมอยู่ในระดับที่อาจส่งผลต่อสุขภาพการได้ยิน ส่วนแอปสุขภาพบน iPhone จะติดตามประวัติการรับฟังเสียงของผู้ใช้ในระดับต่างๆ
การลดเสียงแวดล้อม: ผู้ใช้ Apple Watch สามารถดูช่วงเวลาที่ระดับเสียงแวดล้อมลดลงในขณะที่ใส่ AirPods Pro และ AirPods Max
โหมดตัดเสียงรบกวนแบบแอ็คทีฟและการลดเสียงดัง: การตัดเสียงรบกวนแบบแอ็คทีฟใช้ไมโครโฟนเพื่อตรวจจับเสียงภายนอก จากนั้น AirPods Pro จะใช้สัญญาณต้านเสียงรบกวนเพื่อตัดเสียงจากภายนอกก่อนที่ผู้ใช้จะได้ยิน และสำหรับผู้ที่ยังอยากฟังเสียงรอบตัว AirPods Pro (รุ่นที่ 2) ก็มีโหมดลดเสียงดังที่ช่วยลดเสียงรบกวนดังๆ โดยที่ยังคงให้เสียงที่คมชัดเช่นเดิม
ลดเสียงดัง: หากต้องการตั้งระดับเสียงสูงสุดของหูฟัง ผู้ใช้สามารถเข้าไปที่การตั้งค่า แล้วแตะเสียงและการสั่น (บน iPhone 7 และใหม่กว่า) หรือเสียง (สำหรับรุ่นก่อนหน้านั้น) จากนั้นแตะความปลอดภัยหูฟัง ซึ่งเป็นส่วนที่ผู้ใช้สามารถเปิด "ลดเสียงดัง" แล้วลากแถบเลื่อนเพื่อปรับระดับเดซิเบลตามที่ต้องการ
แชร์บทความ

Media

  • เนื้อหาของบทความนี้

  • รูปภาพในบทความนี้

สื่อมวลชน

ช่องทางให้ความช่วยเหลือของ Apple สำหรับสื่อมวลชน

[email protected]