เปิดในหน้าต่างใหม่
ภาพที่ถ่ายขึ้นมาจากภายในหลุมขุดค้นและเห็น Dr. Rogers กำลังถือ iPad Pro อยู่บริเวณปากหลุม
Dr. Jordan Rogers ใช้ iPad Pro เพื่อสแกนหลุมที่ทีมงานของเขากำลังขุดค้นในห้องครัวโรมันโบราณในปอมเปอีในแบบ 3D
ตอนนั้นเป็นเช้าวันอังคารในสัปดาห์สุดท้ายของการขุดค้นโดยทีมนักโบราณคดีที่ปอมเปอี และทุกคนต่างตื่นเต้นกันมาก 
ก่อนหน้านั้นหนึ่งวันมีการขุดพบกรุโบราณวัตถุภายในหลุมในห้องครัวโรมันโบราณ โดย Dr. Allison Emmerson ศาสตราจารย์จาก Tulane University ที่เป็นผู้ดูแลการขุดค้นเชื่อว่ายังขุดไม่ถึงก้นหลุมและยังไม่เจอโบราณวัตถุไม่ครบทั้งหมด การค้นพบใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นแต่ละครั้งช่วยให้เบาะแสในการไขเรื่องราวเบื้องหลังสถานที่และผู้คนที่เคยใช้สถานที่ดังกล่าว 
ในบรรดาเครื่องมือที่นักโบราณคดีใช้กันมาหลายศตวรรษ อาทิ เกรียง ถัง แปรง และพลั่ว ตอนนี้มีอุปกรณ์ชิ้นใหม่อย่าง iPad Pro
"iPad เป็นเครื่องมือทางโบราณคดีที่ลงตัวอย่างมาก" Dr. Emmerson ผู้ซึ่งเคยเป็นสมาชิกในทีมที่ริเริ่มนำอุปกรณ์ชิ้นนี้มาใช้บันทึกข้อมูลการขุดค้นทางโบราณคดีในปี 2010 กล่าว พร้อมยกความดีความชอบให้แก่ iPad ในการพลิกโฉมการทำงานในด้านนี้
ฤดูร้อนปีนี้ Dr. Emmerson ซึ่งทุ่มเทการทำงานไปที่ชุมชนโรมันโบราณจำนวนมากที่ไม่ได้รวมอยู่ในการศึกษาวิจัยก่อนหน้านี้ เช่น สตรี คนยากจน และผู้ที่ตกเป็นทาส ได้นำ iPad Pro มาใช้เป็นศูนย์กลางของกระบวนการทำงานในทีม โดยเชื่อว่าจะช่วยเปลี่ยนแปลงวงการอีกครั้งด้วยคุณสมบัติต่างๆ อาทิ ความเร็วในการประมวลผลและระยะเวลาการใช้งานแบตเตอรี่ที่ดียิ่งขึ้น, สแกนเนอร์ LiDAR และอรรถประโยชน์ของ Apple Pencil
บุคคล 2 คนในภาพหลักที่กำลังจัดการกับภาชนะใส่ไวน์ที่ทำจากดินเหนียวในหลุมขุดค้น ภาพแทรกขนาดเล็กที่แสดงถึง Dr. Emmerson ณ สถานที่ขุดค้น
Mary-Evelyn Farrior ผู้ควบคุมดูแลการขุดค้นและ Noah Kreike-Martin นักศึกษาของ Princeton University ขุดพบภาชนะใส่ไวน์บางส่วนในร่องขุดในปอมเปอี โดยมี Dr. Allison Emmerson เป็นผู้ดูแลการขุดค้นในฤดูร้อนปีนี้ โดยได้รวมทีมนักโบราณคดีและนักศึกษาทั้งจากสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร
"การขุดค้นทางโบราณคดีเป็นกระบวนการที่ก่อให้เกิดการทำลาย เมื่อขุดสถานที่หนึ่งใดแล้ว ก็ไม่สามารถขุดซ้ำได้อีกต่อไป ดังนั้นสิ่งที่เราให้ความสำคัญมากที่สุดก็คือการบันทึกข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้งหมดโดยละเอียด เพื่อให้นักวิจัยรุ่นต่อไปสามารถ 'ชุบชีวิต' สถานที่ดังกล่าวขึ้นมาได้อีกครั้ง" Emmerson กล่าว "iPad Pro ทำให้เราเก็บรวบรวมข้อมูลได้เร็วขึ้น แม่นยำขึ้น และปลอดภัยยิ่งกว่าเครื่องมืออื่นใด อีกทั้งยังมีพลังในการประมวลผลที่เราจำเป็นต้องใช้ในการรวมข้อมูลดังกล่าวและนำเสนอในแบบที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน"
เขาวิซูเวียสระเบิดในช่วงฤดูใบไม้ร่วงปี ค.ศ. 79 จนฝังนครปอมเปอีเอาไว้ใต้เถ้าถ่านภูเขาไฟ และก่อนหน้านั้น 17 ปี นครแห่งนี้เคยเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่โดยสร้างความเสียหายอย่างหนัก ซึ่งนักโบราณคดีบางคนเชื่อว่าช่วงเวลาระหว่างทั้ง 2 เหตุการณ์ ปอมเปอีถือเป็นนครที่อยู่ในภาวะเสื่อมถอย
สำหรับการขุดค้นในปีนี้เป็นเวลา 5 สัปดาห์ ภายใต้โครงการ Pompeii I.14 ของ Tulane University ซึ่งตั้งชื่อตามตำแหน่งที่ตั้งอาคารในระบบกริดของเมือง โดย Dr. Emmerson ได้รวบรวมนักโบราณคดีและนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยทั้งสองฟากของมหาสมุทรแอตแลนติกเพื่อขุดค้นอาคารพาณิชย์ที่เชื่อว่าน่าจะเป็นร้านอาหารในยุคศตวรรษที่ 2 หรือ 3 ก่อนคริสตกาล
คณะทำงานดังกล่าวยังประกอบด้วยทีมเทคโนโลยีที่มี Dr. Alex Elvis Badillo เป็นนักโบราณคดีดิจิทัลและผู้นำร่วม ซึ่ง Dr. Emmerson เคยร่วมงานด้วยเมื่อปีที่แล้วและได้คิดค้นเทคนิคใหม่ๆ ในการบันทึกและเผยแพร่ข้อมูลหลักฐานทางโบราณคดี
ฤดูร้อนปีนี้ Dr. Badillo และ Dr. Emmerson มีเป้าหมายทางเทคโนโลยี 2 เรื่อง คือ การใช้เวิร์กโฟลว์แบบไร้กระดาษโดยสมบูรณ์แบบบนอุปกรณ์เครื่องเดียว และการสร้างฐานข้อมูลออนไลน์ที่ทำให้คนอื่นๆ สามารถ "ขุดค้นซ้ำ" แบบเสมือนจริง ณ สถานที่ดังกล่าว โดย Dr. Badillo รู้ว่า iPad Pro พร้อม Apple Pencil จะช่วยรับหน้าที่เป็นรากฐานการทำงาน และเลือกใช้ชุดเครื่องมือของ Esri รวมถึงแอป Concepts จาก TopHatch เป็นแอปเพิ่มเติม
สิ่งดังกล่าวช่วยพลิกโฉมการขุดค้นโดยเฉพาะแก่ผู้ควบคุมดูแลการขุดค้นทั้ง 2 คนของทีม ได้แก่ Dr. Jordan Rogers ซึ่งสอนอยู่ที่ Carleton College และ Mary-Evelyn Farrior ซึ่งกำลังศึกษาปริญญาเอกที่ Columbia University โดยทั้งคู่ต้องดูแลพื้นที่คนละส่วนในโบราณสถานซึ่งเรียกว่า ร่องขุด ต้องคอยแนะนำนักขุดค้นที่เป็นนักศึกษา และเก็บบันทึกข้อมูลส่วนใหญ่ที่รวบรวมมาได้ 
"วิธีที่ผมใช้มาตลอดในการเก็บบันทึกการขุดค้นในอดีตก็คือการใช้กระดาษและดินสอหรือปากกา" Rogers กล่าว "เวลาที่คุณวาดภาพ ก็ต้องวาดบนกระดาษกราฟ และใช้เชือกและเครื่องมือวัดระดับน้ำเพื่อวัดตำแหน่งของสิ่งต่างๆ อีกทั้งยังถ่ายภาพโดยใช้กล้องคนละตัว ซึ่งก็ต้องกลับมาอัปโหลดเองที่บ้าน ดังนั้นข้อมูลต่างๆ จึงกระจัดกระจาย และทุกคืนก็ต้องเสียเวลาหลายชั่วโมงไปกับการถ่ายโอนข้อมูลบันทึกประจำวันลงในคอมพิวเตอร์"
TKTK ภาพหลักที่แสดง Farrior ในหลุมขุดค้นโดยกำลังวัดขนาดและสเก็ตช์ภาพด้วย Apple Pencil บน iPad Pro ส่วนภาพแทรกขนาดเล็กแสดงถึง Farrior ซึ่งนั่งทำงานที่โต๊ะโดยมี iPad Pro พร้อม Magic Keyboard ตั้งอยู่ตรงหน้า ขณะที่ Dr. Emmerson ยืนอยู่ข้างหลัง
Mary-Evelyn Farrior ใช้ iPad Pro พร้อม Magic Keyboard เพื่อบันทึกข้อมูล ขณะที่ Dr. Allison Emmerson คอยมอง Farrior สเก็ตช์ภาพร่องขุดในแอป Concepts บน iPad Pro ซึ่งทำให้นักโบราณคดีสามารถวาดแผนภาพได้ตรงตามขนาด
ขณะที่ Dr. Rogers และทีมขุดร่องของเขาได้ขุดลึกลงไปในหลุมห้องครัวซึ่งสร้างความประหลาดใจได้อย่างมากมายเมื่อวันก่อน ตอนนี้เครื่องมือบันทึกข้อมูลเพียงอย่างเดียวที่เขาใช้ก็คือ iPad Pro พร้อม Apple Pencil 
"ตอนแรกผมก็รู้สึกหวั่นเล็กน้อยเพราะไม่เคยใช้ iPad มาก่อน" Rogers กล่าว "แต่ก็เรียนรู้ได้รวดเร็ว และน่าทึ่งมากที่ได้เห็นว่ากระบวนการเก็บบันทึกข้อมูลเป็นไปตามที่ต้องการและมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นเพียงใด โดยเฉพาะกับ Apple Pencil ผมยังรู้สึกเบาใจมากขึ้นเมื่อไม่ต้องกังวลอีกต่อไปว่าจะทำกระดาษสูญหาย เพราะก่อนหน้านี้มีแต่กระดาษเต็มไปหมด"
Dr. Badillo ปรับแต่งแอป ArcGIS Survey123 ของ Esri เพื่อให้นักโบราณคดีสามารถใส่ข้อมูลที่ต่างกันได้มากกว่า 50 ฟิลด์บน iPad Pro และยังรองรับการแนบเอกสาร เช่น รูปภาพและภาพสเก็ตช์ 
"ฉันเคยใช้ iPad นอกสถานที่ 2 ครั้งก่อนการขุดครั้งนี้" Farrior กล่าว "แต่นี่เป็นครั้งแรกที่ได้ใช้ iPad Pro และสามารถจัดเก็บข้อมูลทุกประเภทเอาไว้ในที่เดียวกัน ฉันสเก็ตช์ภาพผังร่องขุดในแอป Concepts ด้วย Apple Pencil ถ่ายรูปด้วยกล้อง และพิมพ์ข้อมูลที่สังเกตพบด้วย Magic Keyboard โดยสามารถรวมทุกสิ่งเหล่านี้เข้าด้วยกันได้เร็วจนเหลือเชื่อ และแบตเตอรี่ก็ใช้งานได้นานตลอดทั้งวันในอุณหภูมิที่สูงและสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยฝุ่นจากการขุดค้น"
TKTK Dr. Rogers ยืนอยู่ในหลุมขุดค้นและถือหม้อดินเผา ขณะที่ Kurtz กำลังถือที่โกยผงและโน้มตัวเข้ามาใกล้เขา
Dr. Jordan Rogers แสดงหม้อที่ขุดพบในหลุมห้องครัวโรมันโบราณให้ Keira Kurtz ซึ่งเป็นนักศึกษาของ Tulane University ดูระหว่างการขุดค้นในปอมเปอี
ภาพระยะใกล้แสดงมือของ Dr. Rogers ที่กำลังถือ Apple Pencil ขณะสเก็ตช์ภาพบน iPad Pro
Dr. Jordan Rogers ใช้แอป Concepts บน iPad Pro พร้อม Apple Pencil เพื่อสเก็ตช์บริเวณห้องที่ทีมงานของเขาขุดค้น
Dr. Rogers ยังใช้สแกนเนอร์ LiDAR Scanner บน iPad Pro ร่วมกับ 3d Scanner App ของ Laan Labs เพื่อสร้างแผนที่สามมิติของร่องขุดของเขา
"ทำงานเร็วมาก ใช้เวลาสแกนเพียง 10 ถึง 15 วินาที และก็ใช้ง่ายมาก" Rogers กล่าว "สามารถเก็บรายละเอียดทั้งหมดได้อย่างดีและนำมาต่อรวมกันได้ ซึ่งมีประโยชน์กับผมอย่างมากสำหรับใช้อ้างอิงถึงในภายหลังตอนที่เราวิเคราะห์ข้อมูลเมื่อสิ้นสุดการขุดค้น" 
ยิ่ง Rogers และทีมงานขุดลึกลงไปในหลุมห้องครัว ก็ยิ่งเจอโบราณวัตถุจำนวนมาก มีทั้งหน้ากาก ชิ้นส่วนภาชนะประกอบอาหาร กระดูกสัตว์ และตะเกียงขนาดเล็ก ซึ่งวัตถุแต่ละชิ้นทำให้นักโบราณคดีเข้าใจว่าในอดีตมีการใช้ห้องอาหารแห่งนี้อย่างไรและเมื่อใด เบาะแสเหล่านั้นเริ่มบ่งชี้ไปยังช่วงเวลาที่ต่างออกไปจากที่ทีมงานได้คาดการณ์ไว้ทีแรก และยังแสดงถึงสภาพแวดล้อมแห่งเมืองที่อยู่ในยุครุ่งเรือง ไม่ใช่ที่กำลังร่วงโรย
หนึ่งในเบาะแสจากการขุดค้นที่ช่วยเปิดเผยอดีตได้มากที่สุดพบอยู่ในร่องขุดของ Farrior ในช่วง 2-3 สัปดาห์ก่อนหน้า ระหว่างที่นักศึกษาคนดังกล่าวกำลังร่อนถังผงก็พบเหรียญชิ้นหนึ่ง ซึ่งเป็นเหรียญทองคำออเรียสหายากที่น่าทึ่ง โดยจักรพรรดิออ
กัสตัสสั่งให้จัดทำขึ้นในช่วงชีวิตปีสุดท้ายราว ค.ศ. 13 หรือช่วงต้นของ ค.ศ. 14
Dr. Emmerson ถือเหรียญทองคำในมือข้างหนึ่ง และหินที่มีรูรูปเหรียญในมืออีกข้างหนึ่ง
Dr. Allison Emmerson ถือเหรียญทองคำหายากที่เรียกว่า ออเรียส ซึ่งทีมงานพบระหว่างการขุดค้น
"เราพบเหรียญใต้ทางเดินในห้อง ซึ่งดูแล้วน่าจะเป็นตำแหน่งที่จงใจ โดยอาจเป็นการถวายแก่เทพเจ้าระหว่างการก่อสร้างหรือรื้อก่อสร้างพื้นที่ดังกล่าวใหม่" Dr. Emmerson กล่าว "ดังนั้นเราจึงเห็นภาพได้อย่างชัดเจนว่าพื้นที่ชั้นนี้ได้จัดเตรียมขึ้นในช่วงเวลาหนึ่ง" 
ทีมดิจิทัลจะเก็บรวบรวมเหรียญและโบราณวัตถุอันน่าตื่นตาทั้งหมดที่พบเพื่อนำไปสแกนแบบ 3D จากนั้นจึงรวบรวมภาพสแกนพร้อมด้วยข้อมูลส่วนอื่นๆ ที่ได้มาระหว่างการขุดค้นเพื่อนำไปจัดทำเป็นฐานข้อมูลสถานที่แบบอินเทอร์แอ็คทีฟที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ทางออนไลน์เพื่อจะได้ลองขุดค้นซ้ำอีกครั้งในแบบดิจิทัล โดยถือเป็นพัฒนาการรูปแบบใหม่ในสาขานี้
"สิ่งที่ iPad Pro ทำให้เป็นจริง และสิ่งที่ Alex และฉันรู้สึกทึ่งอย่างมากก็คือ การบูรณาการและการปฏิสัมพันธ์ด้วยข้อมูลในระดับนี้" Dr. Emmerson กล่าว "ถ้าจำเป็นต้องย้อนดูว่าร่องขุดของ Mary-Evelyn มีสภาพเป็นอย่างไรในเช้าวันที่ 28 กรกฎาคม ฉันก็สามารถเรียกดูวัตถุโบราณ การวิเคราะห์ดิน รูปภาพ และภาพวาด ได้ทันทีจากปลายนิ้ว"
เดือนมกราคมที่จะถึงนี้ Dr. Badillo และทีมงานจะนำเสนอฐานข้อมูลและบอกเล่าถึงเวิร์กโฟลว์บน iPad Pro ที่ทำให้บรรลุความตั้งใจจนสำเร็จ โดยจะนำเสนอในงานประชุมประจำปีของ Archaeological Institute of America
"ในแง่มุมของความสำเร็จ เวิร์กโฟลว์ที่ใช้ iPad Pro ทำได้ดีเกินที่ผมคาดหวังในเรื่องความเร็วในการทำให้ข้อมูลทุกชิ้นและทีมงานทุกคนสามารทำงานร่วมกัน" Dr. Badillo กล่าว "ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลจากความสามารถของ iPad Pro และ Apple Pencil ที่ใช้งานได้ง่ายมาก"
การขุดค้นในปีนี้ถือเป็นครั้งแรกจากทั้งหมด 3 ครั้ง โดยในช่วงฤดูร้อน 2 ครั้งถัดไป Emmerson จะกลับมาพร้อมกับทีมงานเพื่อขุดค้นพื้นที่เดิมต่อจากที่ค้างไว้ ครั้งหน้าที่เวียนกลับมา เธอจะมองสถานที่ดังกล่าวด้วยมุมมองที่ต่างออกไป 
ทิวทัศน์ผ่านหน้าต่าง ณ สถานที่ขุดค้นซึ่งแสดงกำแพงหินและเขาวิซูเวียสที่ไกลออกไป
เขาวิซูเวียสที่มองเห็นผ่านหน้าต่างของสถานที่ขุดค้นตามโครงการ Pompeii I.14 ของ Tulane University ในฤดูร้อนปีนี้
"ดูเหมือนว่าอาคารดังกล่าวจะใหม่กว่าที่คาดการณ์ไว้ในอดีตอยู่มาก" Dr. Emmerson ผู้ซึ่งใช้เวลาทั้งสัปดาห์หลังจากการขุดค้นเพื่อศึกษาข้อมูลร่วมกับเพื่อนนักโบราณคดีของเธอกล่าว "จากข้อมูลทั้งหมดที่เราได้มา โดยเฉพาะเหรียญและเครื่องปั้นดินเผา ทำให้ตอนนี้เรามองไปที่ช่วงกลางคริสต์ศตวรรษแรก อีกทั้งเรายังเห็นความคืบหน้าในพื้นที่รับประทานอาหารของห้องอาหารซึ่งทำให้เราเชื่อว่าปอมเปอีไม่ใช่นครที่ซบเซา ณ ช่วงเวลาที่เกิดภูเขาไฟระเบิด แต่เป็นนครที่มีชีวิตชีวาทีเดียว" 
Dr. Emmerson มองว่าผลิตภัณฑ์ Apple มีส่วนสำคัญอย่างมากที่ช่วยให้เธอได้คำตอบเหล่านี้ในระยะเวลาอันสั้น โดยทั่วไปทีมนักโบราณคดีต้องใช้เวลาหลายปีหลังจากขุดค้นเสร็จสิ้นจึงจะสามารถรายงานข้อมูลการค้นพบ 
"ฉันเข้าใจสถานที่ขุดค้นได้ดียิ่งขึ้นกว่าที่เคยเมื่อเสร็จสิ้นการขุดค้น นี่เป็นงานโบราณคดีที่เรียบร้อยและชัดเจนที่สุดเท่าที่ฉันเคยทำมา และ iPad Pro ก็มีบทบาทสำคัญอย่างมาก" เธอกล่าว "นั่นเป็นหนึ่งในเหตุผลที่เทคโนโลยีนี้มีความสำคัญอย่างมาก ช่วยให้เราถ่ายทอดสิ่งที่เราทำและค้นพบได้อย่างถูกต้อง เพราะการยึดมั่นในความรับผิดชอบต่อการขุดค้นสถานที่และบอกเล่าเรื่องราวของผู้คนที่เคยอาศัยอยู่ที่นี่ ถือเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดสำหรับฉัน"
แชร์บทความ

Media

  • เนื้อหาของบทความนี้

  • รูปภาพในบทความนี้

ถ่ายภาพโดยได้รับอนุญาตจากกระทรวงวัฒนธรรม - อุทยานโบราณสถานปอมเปอี

รายชื่อติดต่อสำหรับสื่อมวลชน

ช่องทางให้ความช่วยเหลือของ Apple สำหรับสื่อมวลชน

[email protected]